Brief
History of Jazz
สิ่งหนึ่งที่นักฟังเพลงที่เริ่มต้นฟังเพลงแจ๊ซถามกันมามากก็คือ แจ๊ซเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร? มันยากที่จะตอบเหลือเกิน แผ่นเพลงแจ๊ซแผ่นเริ่มถือกำเนิดในปี 1917 แต่เพลงแจ๊ซพื้นบ้านได้เริงร่ามาถึง 20 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว โดยได้รับอิทธิพลจากดนตรีคลาสสิค, เพลงมาร์ช, เพลงสวด, เพลงลงแขก, แร็กไทม์, บลูส์และเพลงป็อปสมัยนั้น ทำให้เพลงแจ๊ซได้ก่อรูปร่างมีแบบแผนที่แน่นอนก่อนที่มันจะได้รับการบรรจุเข้าสารบบทางดนตรี เมื่อแรกนั้น
ดนตรีแจ๊ซเป็นดนตรีที่บรรเลงโดยนักดนตรีบ้านนอกที่ไม่รู้เรื่องดนตรีเอาซะเลยในวงมาร์ชที่นิวออร์ลีนส์
ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวนิวออร์ลีนส์อยู่แล้วตั้งแต่ 1890 ด้วยวงโยธวาทิตที่ถูกจ้างมาเล่นตามงานต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นงานศพ, งานเดินขบวน, งานรื่นเริงสังสรรค์และงานเต้นรำ มันยังคงยืนหยัดด้วยความสร้างสรรค์ของนักดนตรี
(ที่ไม่รู้ทฤษฎี) ที่มักจะเล่นแตกแถวเพื่อให้เพลงของตัวเองเป็นที่สนใจ ตั้งแต่ที่นักเป่าคอร์เน็ต
บัดดี โบลเดน (นักดนตรีชื่อดังคนแรกที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น
นักดนตรีแจ๊ซ คนแรก) เริ่มตั้งวงดนตรีของตัวเองเมื่อปี 1895 ซึ่งเป็นปีที่มีคนมักจะนับเป็นปีต้นกำเนิดดนตรีแจ๊ซ
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ถึง 20 ปีก็ได้ถือกำเนิดแล้ว เพียงแต่ยังมีวิวัฒนาการที่เชื่องช้าอยู่
โบลเดน (เป็นโรคป่วยทางจิตจนกระทั่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายเมื่อปี
1906) ประสบความสำเร็จอย่างมากโดยฝีมือเฟรดดี เคปเพิร์ด ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักคอร์เน็ตแห่งนิวออร์ลีนส์
และในที่สุดเคปเพิร์ดก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่กับวงของคิง โอลิเวอร์
แม้ว่านักดนตรีจากนิวออร์ลีนส์จะท่องขึ้นเหนือ แต่แจ๊ซก็ยังปักหลักเหนียวแน่นอยู่กับถิ่นเกิดจนกระทั่งช่วงปีแห่งสงครามโลกครั้งที่
1 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 1917 วงดนตรีผิวขาว ดิ ออริจินัล ดิกซีแลนด์ แจ๊ซแบนด์ได้บันทึกเสียงเพลง Darktown Strutters Ball และ Indiana ให้กับค่ายโคลัมเบีย ด้วยความอลหม่านของบ้านเมืองช่วงนั้น เพลงของพวกเขาก็ถูกแบนตามระเบียบเนื่องจากข้อหาที่ถูกยัดเยียดว่าจะเป็นการก่อความไม่สงบ ดังนั้นเดือนกุมภาพันธ์ถัดมา พวกเขาจึงย้ายมาอยู่กับค่ายวิกเตอร์ออกผลงานเพลง Livery Stable Blues และ The Original Dixie Land One Step ผลงานสองชิ้นนี้ถูกวางจำหน่ายทันที Livery Stable Blues (ซึ่งเป่าฮอร์นเลียนแบบเสียงสัตว์!) กลายเป็นเพลงที่มียอดขายดีที่สุด และแจ๊ซก็คล้ายๆ กับว่าถูกค้นพบตั้งแต่บัดนั้น ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีวงอื่นๆ ทำเลียนแบบออกมาเหมือนดิ ออร์ริจินัล ฯ (แต่ดิ ออร์จินัลฯไม่มีการบรรเลงเดี่ยวเลย) ด้วยแรงขยันอยากจะปั๊มสตางค์ของทางค่ายเพลงจากดนตรีแนวใหม่แนวนี้ ทำให้ค่ายเพลงทั้งหลายก็ผลักดันให้เพลงแจ๊ซดังระเบิดภายหลังจากนั้นไม่กี่ปี ดิ ออริจินัลฯก็ไปเล่นที่ลอนดอนเมื่อปี 1919 อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่ปีต่อมานักดนตรีแจ๊ซผิวดำจึงได้เริ่มเข้าห้องอัดเสียงกับเขาบ้าง
นี่เองเป็นเหตุที่ให้เข้าใจผิดว่าคนผิวขาวเป็นต้นกำเนิดเพลงแจ๊ซ
ในปี 1920
มามี สมิธได้บันทึกเสียงอัลบัมเพลงบลูส์ชุด Crazy Blues เป็นอัลบัมแรก
และกระแสแจ๊สก็ถูกผลักดันขึ้นมาโดยกระแสคลั่งเพลงบลูส์ อย่างไรก็ตามดนตรีก็ได้พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ
และเดอะ นิวออร์ลีนส์ ริธึม คิงส์ (หนึ่งในวงแรกๆ ที่มีการโชว์เครื่องดนตรีบรรเลงเดี่ยว)
ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1922 ก็ถือเป็นก้าวสำคัญต่อจากดิ ออริจินัลฯ
ถัดมาในปี 1923 ก็ถือเป็นปีสำคัญของดนตรีแจ๊ส เพราะว่าในปีนั้น
คิง โอลิเวอร์สรรค์สร้างวงครีโอล แจ๊ส แบนด์ขึ้นมา
(ซึ่งมีลุยส์ อาร์มสตรอง นักทรัมเป็ตและจอห์นนี
ด็อดส์ นักคลาริเน็ตร่วมวงด้วย) พร้อมทั้งเบซซี สมิธ
นักร้องเพลงบลูส์และเจลลี โรล มอร์ตัน นักเปียโน-นักแต่งเพลงต่างก็ออกอัลบัมแรกของตัวด้วยกันทั้งสิ้น
ขณะที่วงของคิง โอลิเวอร์ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นวงนิวออร์ลีนที่ช่ำชองแล้ว
ลุยส์ อาร์มสตรองก็กำลังจะเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์แจ๊สในอีกไม่นาน ต้นทศวรรษที่
20 เมืองชิคาโกถือเป็นศูนย์กลางของแจ๊ส เมื่อลุยส์ อาร์มสตรองเข้ามาร่วมเล่นกับวงบิ๊กแบนด์ของเฟล็ตเชอร์
เฮนเดอร์สันในนิวยอร์ก เมื่อปี 1924 เขาพบว่านักดนตรีของเดอะ
บิ๊ก แอปเปิลมักจะเล่นด้วยจังหวะสตัคคาโต (เล่นขาดหายเป็นห้วงๆ)
และไม่ค่อยเจืออารมณ์บลูส์สักเท่าไร ลุยส์จึงบ้าระห่ำคิดการเล่นโซโลกระจายกับเฟล็ตเชอร์กันสองคน
ซึ่งตรงนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนของแจ๊สช่วงนั้น และเป็นไปได้สูงทีเดียวที่การอิมโพรไวส์จะเกิดจากตรงนั้นเช่นกัน
จึงน่าจะยกให้เป็นความชอบของลุยส์ที่ให้ความสำคัญต่อการเล่นโซโลเดี่ยวมากกว่าเล่นพร้อมกันเป็นวงอย่างที่ผ่านมา
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคของสวิงอย่างแท้จริง ทศวรรษที่ 20 เป็นช่วงที่เรียกว่ายุคแจ๊ส (ซึ่งวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับดนตรีแนวนี้ วรรณกรรมเรื่อง The Great Gatsby คงเป็นภาพสะท้อนที่ดีของยุคแจ๊ส) แจ๊สเริ่มกลายเป็นต้นแบบของดนตรีเต้นรำและเครื่องแต่งกายในเชิงพาณิชย์ แล้วก็เริ่มรูปแบบของการเรียบเรียงดนตรีที่มีทั้งภาคริธึมและโซโลสั้นๆ งานสตูดิโออัลบัมต่อเนื่องในนามของ Hot Fives and Hot Sevens ของลุยส์ อาร์มสตรองก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีทั้งหลายได้ทำตาม ขณะที่ลุยส์กำลังโด่งดังกับการร้องสแก็ตและลีลาการร้องเนิบนาบ ซึ่งส่งอิธิพลให้กับนักร้องอย่าง บิง ครอสบีอย่างชัดเจน (แล้วบิงก็กลับกลายมาเป็นอิทธิพลต่อคนอื่นๆ รุ่นต่อมา!) นักดนตรีอย่าง บิกซ์ เบเดอเบ็กซ์ (นักคอร์เน็ตที่มีลีลาการเป่าเยือกเย็นกว่าลุยส์), เจลลี โรล มอร์ตัน (นักเปียโนซึ่งเล่นทั้งภาคริธึมและโซโลในวงเรด ฮ็อต เปปเปอร์สของตัวเอง), เจมส์ พี. จอห์นสัน (ราชันย์แห่งเปียโนสไตรด์), ดุ๊ก เอลลิงตัน (นักดนตรี-นักประพันธ์) และนักแซ็กดาวรุ่งอย่าง โคลแมน ฮอว์กินส์ ก็กลายมาเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ผลักดันวงการเพลงแจ๊ส
ในช่วงนั้นแจ๊สก็ไพัฒนาไปในหลายๆ
ด้าน นักดนตรีบรรเลงเดี่ยวรุ่นใหม่ๆ (อย่างเช่น นักเปียโน อาร์ต
ตาร์ตัมและเท็ดดี วิลสัน) นักเทนเนอร์แซ็ก
เลสเตอร์ ยัง และนักทรัมเป็ต รอย เอลดริดจ์และบันนี
แบริแกน) ก็กำเนิดขึ้นมาด้วยลีลาของใครของมัน การเรียบเรียงดนตรีของวงบิ๊กแบนด์ก็เป็นไปด้วยรายละเอียดที่ดูหรูหรามากขึ้น
ดิกซีแลนด์ก็ถูกปัดฝุ่นฟื้นคืนชีพกลับขึ้นมาอีก (วงเยอร์บา บูเอนา
แจ๊ส แบนด์ของลู วัตเตอร์เป็นแรงผลักดันสำคัญ)
แล้วในที่สุดแจ๊สก็ได้รับการยกย่องเป็นครั้งแรกให้เป็นส่วนสำคัญของประเทศอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ยุคทองของแจ๊สยังไม่จบเท่านี้ ด้วยการวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของแจ๊ส
บางทีมันอาจจะพัฒนาไปจนไกลเกินกว่าที่มวลชนต้องการก็เป็นได้ นักดนตรีเลือดใหม่ในต้นยุคทศวรรษที่
40 ต่างก็มองหาอะไรมากกว่าดนตรีสวิง ซึ่งวนเวียนอยู่กับความเริงรมย์ซ้ำๆ
ซากๆ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นที่เป็นตัวของตัวเอง ชาร์ลี พาร์เกอร์
นักอัลโตแซ็กและดิซซี กิลเลสปี นักทรัมเป็ตรุ่นใหม่ที่เป็นหัวหอกในการค้นพบดนตรีแจ๊สแนวใหม่ที่เรียกว่า
บีบ็อป หรือ บ็อป แต่พวกเขาก็ไม่ได้เปล่าเปลี่ยวมากนัก เพราะไม่นานนักก็มีหางแถวตามพวกเขามากันเป็นขบวน
หลักๆ ของบ็อปก็คือการเล่นที่รวดเร็วตามประสงค์ในการอิมโพรไวส์ของผู้เล่น
อันนำมาซึ่งคำถามของนักวิจารณ์ว่า แล้วทำนองล่ะหายไปไหน? แนวประสานและริธึมมีความซับซ้อนและเอาจริงเอาจังมากขึ้น
ดนตรีจังหวะเต้นรำก็มีให้ฟังกันน้อยลงๆ ในช่วง 1942-44 วงการเพลงได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีบันเทิงอันต้องห้าม
ส่งผลให้สถานเต้นรำปิดตัวลงไปหลายแห่ง และความโด่งดังของนักร้องสายป็อปก็กลับมากลืนกินวงบิ๊กแบนด์อีก
ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้แจ๊สถูกจำกัดวงกลายเป็นดนตรีสำหรับผู้มีอันจะกิน
ที่ฟังเพลงประดับบารมี ยิ่งทำให้มีคนฟังลดน้อยถอยลงไปอีก อย่างไรก็ตาม
แม้เศรษฐกิจจะตกสะเก็ด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดนตรีแจ๊สจะต้องหยุดการเจริญเติบโต
บ็อปจากที่เคยถูกกล่าวขานว่าร้อนแรงเกินไป (ผลกระทบครั้งนั้นทำให้บรรดานักฟังไม่ได้ตามปะติดปะต่อวิวัฒนาการของมันมากนัก)
กลายมาเป็นดนตรีกระแสหลักของแนวแจ๊สในที่สุดในช่วงยุคทศวรรษที่ 50 คูล
แจ๊ส (หรือเวสต์โคสต์ แจ๊ส) ซึ่งให้น้ำหนักกับการเล่นและเรียบเรียงในทางอ่อนหวานและเยือกเย็นมากขึ้น
และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษนั่นเอง และฮาร์ดบ็อป (ซึ่งจะให้อารมณ์ที่สดใส
มีชีวิตชีวามากขึ้น บางทีก็ทิ้งขนบของบ็อปไป) ก็แผ่กิ่งก้านสาขาบีบ็อปออกไปอย่างต่อเนื่องและมีแฟนเพลงติดตามอยู่กลุ่มหนึ่ง
แต่ก็ควบคู่ไปกับการออกดอกออกผลของอะวองต์-การ์ด (บางทีเรียกว่าฟรีแจ๊ส)
ที่เน้นการอิมโพรไวส์เป็นหลักใหญ่ โดยบางทีก็เพลินจนลืมคนฟังไว้ข้างหลัง! เมื่อออร์เน็ต
โคลแมนและวงสี่ชิ้นของเขาเป็นวงเด่นในคลับไฟว์ สป็อต ที่นิวยอร์ก
ปี 1959 นักฟังหลายคนที่คุ้นเคยกับงานของเธลอเนียส มังค์
ต่างก็มึนงงไปตามๆ กัน ออร์เน็ตและวงของเขาเริ่มเล่นอย่างพร้อมเพรียงกัน
แล้วหลังจากนั้นก็อิมโพรไวส์สดๆ อย่างอิสระเสรี โดยปราศจากการใช้คอร์ดและกฎข้อบังคับใดๆ
ทั้งสิ้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จอห์น โคลเทรน ผู้ซึ่งเป็นผู้นำบ็อปสู่จุดสูงสุด
ด้วยคอร์ดมากมายมหาศาลที่เขาใช้ในอัลบัม Giant Steps ก็ได้เริ่มเข้าร่วมแจมอย่างเร่าร้อนด้วยลีลาล่อหลอกซ้ำๆ
นักเปียโน ซีซิล เทเลอร์ก็ได้สอดใส่กลิ่นอายของคลาสสิกลงไปในดนตรีแจ๊สเป็นรุ่นแรกๆ
และเอริก ดอลฟีก็ได้มาเติมให้เต็มอย่างไม่น่าเชื่อ และ
..นี่ก็หมายความว่าอะวองต์-การ์ด
แจ๊สมาถึงแล้ว! กลางทศวรรษที่
60 ฟรีแจ๊สเริ่มที่มีหลากหลายในทั้งเส้นเสียงและโน้ตจากบรรดานักดนตรีไฟแรงในยุคนั้น
ภายในไม่กี่ปีถัดมา ด้วยความโด่งดังของ ดิ อาร์ต เอนเซ็มเบิล ออฟ
ชิคาโก และ แอนโธนี แบร็กซ์ตัน ภวังค์เวิ้งว้างแบบฟรีแจ๊สถูกใช้อย่างกว้างขวางในแวดวง
และก่อนเข้าสู่ทศวรรษที่ 70 นักดนตรีสายอะวองต์-การ์ดหลายคนก็ปรับปรุงแนวทางของตัวเองด้วยลีลาการเรียบเรียงที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
มันไม่ใช่แค่ดนตรีไร้รูปแบบ แต่มันกลับกลายเป็นดนตรีที่นักดนตรีได้มีอิสรภาพในการบรรเลงที่จะสร้างสรรค์เสียงใดก็ได้ที่พวกเขาคิดว่ามันเข้ากัน
ถึงแม้ดนตรีแนวนี้จะถูกดนตรีแนวอื่นๆ ในยุค 70 บดบังรัศมีเอาก็ตาม มันก็ยังคงมีคนที่สนใจติดตามและกลายเป็นอิทธิพลทางอ้อมแก่แจ๊สกระแสหลักในเวลาต่อมา
เริ่มมีการจับกลุ่มเพื่อฟอร์มวงเชื่อมต่อการอิมโพรไวส์และความกลมกลืนในแจ๊สด้วยพลังจังหวะของดนตรีร็อค
วงที่น่าสนใจได้แก่ รีเทิร์น ทู ฟอร์เอฟเวอร์,
วีเธอร์ รีพอร์ต และมหาวิษณุ ออร์เคสตรา ในปี
1975 ความเคลื่อนไหวนี้ทำท่าจะจางหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง แต่ด้วยความหอมหวลของเงินตราและความสามารถในการทำเงินของมัน
จึงทำให้มันดำเนินต่อไปและต่อมาจนถึงปัจจุบัน บางทีก็หมดมุขจนต้องกลายมาเป็นดนตรีครอสโอเวอร์หรือดนตรีบรรเลงอกกแนวทางป็อป
แล้วยัดเยียดชื่อให้อย่างโก้หรูว่า แจ๊สร่วมสมัย ประวัติศาสตร์ดนตรีแจ๊สจากปี 1920-75 เป็นช่วงที่มีวิวัฒนาการอย่างเร่งร้อนด้วยรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งคิดกันขึ้นมาเพื่อที่มันจะล้าหลังไปในเวลาเพียงห้าปีสิบปีหลังจากนั้น ในช่วงทศวรรษ 1980 มันก็เริ่มกลับกลายมาได้รับการยอมรับและให้เกียรติในสิ่งที่ผ่านมาอย่างพลิกหน้าพลิกหลัง ทั้งยังถูกพินิจพิเคราะห์ย้อนหลังกลับไปในช่วงบ็อปเพื่อเป็นแรงบันดาลใจด้วย ขณะที่ดิกซีแลนด์ยังคงเป็นเหมือนดนตรีใต้ดินเป็นเวลานับสิบปี (มันก็ได้ถึงจุดสูงสุดเมื่อทศวรรษที่ 50 มาแล้ว) ส่วนโมเดิร์นแจ๊สไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักในยุคก่อนปี 80 วินตัน มาร์แซลิสสร้างสัญลักษณ์ในยุคนี้ไว้ด้วยการเล่นทรัมเป็ตที่โดดเด่น โดยได้รับอิทธิพลมาจากไมล์ส เดวิสช่วงกลางยุค 60 เขาเดินทางย้อนหลังกลับไปค้นหาดนตรีแจ๊สก่อนยุคบีบ็อป แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือเขาเข้าถึงคนฟังด้วยความสดใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอดีต นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ หลายต่อหลายคนเดินตามรอยเท้าของวินตัน ในการที่เลิกใส่ใจกับอะวองต์-การ์ดแต่กลับมาให้ความสำคัญกับฮาร์ดบ็อปเป็นพื้นฐานในการทำดนตรี มันก็ออกจะเป็นพัฒนาการที่แปลกอยู่สักหน่อยที่มีนักดนตรีมากมายมาเล่นดนตรีในยุคก่อนที่พวกจะเกิดซะอีก
แต่อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ 90 สิงห์หนุ่มเหล่านั้นก็ได้ค้นพบและพัฒนาซาวด์ของตัวเองและเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ต่อไป แจ๊สหลากสไตล์ยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบันรวมทั้งดิกซีแลนด์, คลาสสิก แจ๊ส, เมนสตรีม (โดยเฉพาะวงสวิงวงเล็ก), บ็อป, ฮาร์ดบ็อป, โพสต์บ็อป, อะวองต์-การ์ด และหลากหลายรูปแบบของฟิวชัน ในช่วงยี่สิบปีหลังนี้วงการแจ๊สไม่ค่อยมีพัฒนาการอะไรมากนัก บางส่วนมาจากเหล่านักดนตรียุโรป ณ ตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าแจ๊สจะเดินทางต่อไปในทิศทางใด มีพวกปากบอนบางกลุ่มก็ถากถางว่านี่เป็นกลียุคของแจ๊และจะจบลงอย่างนี้เอง แต่ตราบใดที่ยังมีผลงานของนักดนตรีทำออกมาเพื่อแสดงความสามารถและตัวตนของพวกเขา นั่นก็หมายถึงว่าแจ๊สจะยังคงอยู่ต่อไป
|
|||
TOP | |||